เนื่องจากโรงเรียนได้ใช้วิธีการจัดการเรียนการสอนแบบมอนเทสซอริกับเด็กอนุบาล ตั้งแต่ปีการศึกษา 2552  และนักเรียนชั้นประถม 1 ในปีการศึกษา 2555 ตลอดระยะเวลา 6 ปี เด็กได้บ่มเพาะองค์ความรู้ จากการเรียนการสอนที่เป็นระบบ แบ่งออกเป็นขั้นตอนง่ายๆ ซึ่งเด็กสามารถเรียนรู้และเข้าใจได้ ผ่านการเรียนรู้จากสื่อที่เป็นรูปธรรม และจะพัฒนาสู่องค์ความรู้ที่เป็นนามธรรม ดังนั้นเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการเรียนรู้ของเด็ก ในปีการศึกษา 2559 โรงเรียนได้ใช้วิธีการจัดการเรียนการสอนแบบมอนเทสซอริสำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 และ 5 ซึ่งจะไหลเลื่อนทุกปีจนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6

 

   การเรียนการสอนแบบมอนเทสซอริ (Montessori) คิดค้นโดยแพทย์หญิงมาเรีย มอนเทสซอริ ซึ่งเป็นชาวอิตาลี ซึ่งวิธีการนี้ได้เริ่มใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2450 เป็นการจัดกระบวนการสอนโดยยึดเอาธรรมชาติของเด็กในแต่ละวัยเป็นหลัก  และให้เด็กเรียนรู้จากการปฏิบัติเพื่อให้เกิดองค์ความรู้จากสื่อต่างๆ

 

 

ธรรมชาติของเด็กช่วงอายุ 6 - 12 ปี  

ธรรมชาติของเด็กในช่วงอายุ 6 – 12 ปีเป็นช่วงที่เด็กเริ่มมีจิตที่สามารถใช้ เหตุผล (reasoning mind) และสามารถเข้าใจตรรกศาสตร์ มีจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ (imagination and creativity) สนใจที่จะรู้เหตุผลของสิ่งต่างๆรอบตัว กระหายที่จะรู้ทุกสิ่งรอบๆตัว 

ด้านสังคม เด็กในวัยนี้ชอบการรวมกลุ่ม ต้องการเป็นที่ยอมรับของกลุ่ม มีภาษาเฉพาะกลุ่ม

ด้านคุณธรรม เด็กมีความรู้จักผิดชอบชั่วดี และมีความรับผิดชอบต่อสังคม

 

การจัดการเรียนการสอนในช่วงอายุ 6 - 12 ปี 

การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนในช่วงอายุนี้ จะเป็นการสอนเป็นกลุ่มย่อยจากสื่อมอนเทสซอริ โดยหลังจากที่ครูสอนกิจกรรมให้นักเรียนแต่ละกลุ่ม (กลุ่มละ 4-6 คน) แล้ว เด็กจะเป็นผู้ปฏิบัติต่อโดยการปฏิบัติซ้ำสิ่งที่ครูสอนและสืบค้น ต่อจากสิ่งที่ครูสอน โดยงานที่เด็กทำจะอยู่ในรูปของการฝึกจากสื่อมอนเทสซอริ โครงงาน ใบงาน และการทดลอง นอกจากนี้เด็กยังมีโอกาสที่ไปสืบค้นนอกห้องเรียน

 

ในแต่ละช่วงเวลาเด็กมีอิสระเลือกงานมาทำตามความสนใจและศักยภาพ โดยครูเป็นผู้คอยให้คำแนะนำให้เด็กหยิบงานมาทำให้หลากหลายและครอบคลุมในทุกเนื้อหารายวิชาที่กำหนดในแต่ละสัปดาห์ ยิ่งไปกว่านั้นกิจกรรมมอนเทสซอริ ยังส่งเสริมและฝึกให้เด็กรู้จักการทำงานเป็นกลุ่ม การเสียสละและเป็นสมาชิกที่ดีในสังคมผ่านกิจกรรมการทำงานในแต่ละวันตลอดจนหน้าที่ ที่ได้รับมอบหมายในห้องเรียนทำให้เด็ก รู้จักสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบของตนในสังคมที่ตนเองอยู่และจากโอกาสที่เด็กได้เป็นผู้ปฏิบัติในงานที่ตนเองทำช่วยส่งเสริมให้เด็กรู้จักปัญหาและมีทักษะการแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันได้ 

 

การจัดเนื้อหา

เนื้อหาวิชาคณิตศาสตร์ ภาษาไทย วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม  จัดการเรียนการสอนผ่านกิจกรรมมอนเทสซอริ

ส่วนวิชาภาษาอังกฤษ ว่ายน้ำ คอมพิวเตอร์ นาฏศิลป์ ศิลปศึกษา การงานอาชีพ และสุขศึกษาและพละศึกษา เรียนกับครูพิเศษ    

 

สื่อที่ใช้   

  • สื่อมอนเทสซอริ
  • แผนภาพ, แผนภูมิ, เส้นเวลา (timeline)
  • นิทาน เรื่องเล่า
  • อุปกรณ์การทดลองวิทยาศาสตร์

 

นอกจากการมีความรู้ที่ยั่งยืนแล้วการจัดกิจกรรมมอนเทสซอริยังส่งเสริมให้

เด็กมีนิสัยรักการอ่านและการค้นคว้าหาความรู้เนื่องจากในห้องเรียนแต่ละห้องจัด

ให้มีห้องสมุดขนาดย่อม ที่นักเรียนสามารถอ่านหรือค้นคว้าได้ในทุกเวลาที่ต้องการ

 

      ในระดับอนุบาลโรงเรียนใช้การเรียนการสอนแบบมอนเทสซอริ (Montessori) โดยยึดหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พ.ศ. 2546

แนวการจัดการศึกษาปฐมวัยของ Dr.Maria Montessori เป็นทฤษฎีที่เน้น การเรียนรู้ผ่านการทำงานจากสื่อมอนเทสซอริที่ผลิตขึ้นมาโดยมีวัตถุประสงค์ของการเรียนรู้ที่เจาะจงและเหมาะสมสำหรับการเรียนรู้ของเด็ก ซึ่งเด็กในวัย 0-6 ปี อยู่ในช่วงที่เรียกว่า จิตซึมซับ ที่เปรียบเสมือนฟองน้ำที่สามารถซึมซับสิ่งรอบตัว ได้อย่างรวดเร็ว โดยเด็กสามารถรับรู้สิ่งต่างๆ รอบตัว และเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง ของตนเองซึ่งกิจกรรมมอนเทสซอรินี้เด็กจะเรียนรู้จากการแนะนำของครูเป็น รายบุคคล ซึ่งขั้นตอนการทำงานได้ถูกแบ่งออกเป็นวิธีการง่ายๆ ที่เด็กสามารถ เรียนรู้และปฏิบัติได้ด้วยตนเองเมื่อเด็กได้รับการแนะนำจากครูแล้วเด็กสามารถเลือกงานออกมาทำด้วยตนเองโดยไม่มีเวลามาเป็นข้อจำกัดในการเรียนรู้ และจากการที่เด็ก ปฏิบัติซ้ำนั้นเด็กจะเกิดทักษะ ความเข้าใจและสร้างองค์ความรู้ที่ยั่งยืน นอกจากนี้ใน ห้องเรียนมอนเทสซอริเด็กมีอิสระที่จะเคลื่อนไหว เลือกงาน ทำงานและเรียนรู้ด้วย ตนเองภายใต้กฎของห้องเรียนที่ตั้งไว้ โรงเรียนจึงได้นำหลักการดังกล่าวมาจัดทำ หลักสูตรสถานศึกษาโดยใช้หลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พ.ศ. 2546 ของกระทรวงศึกษาธิการเป็นแกนโดยเด็กจะได้ฝึกปฏิบัติในเรื่องต่อไปนี้

  1. ทักษะพื้นฐานที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น การเคลื่อนไหวเบื้องต้นที่จำเป็น การดูแลตนเอง การดูแลสิ่งแวดล้อม การแสดงกิริยามารยาทที่สุภาพอ่อนน้อม ทักษะการใช้ชีวิตในสังคม
  2. การรับรู้ผ่านประสาทรับรู้ทั้ง 5 ฝึกเด็กในการรับรู้สิ่งต่างๆ ผ่าน ตา หู จมูก ลิ้น มือ และฝึกให้เด็กสังเกต จำแนก จับคู่ เปรียบเทียบสิ่งที่เหมือน-ต่าง การไล่ลำดับของประเภทต่างๆ 
  3. กิจกรรมทางภาษา  ฝึกให้เด็กมีพื้นฐานในภาษาพูด ภาษาเขียน และการอ่านที่ถูกต้อง
    โดยในระดับอนุบาล1 ยังไม่เน้นเขียนโดยใช้ดินสอเนื่องจากกล้ามเนื้อมือของเด็กยังไม่แข็งแรงที่จะบังคับสิ่งของขนาดเล็กได้ แต่เด็กจะเรียนรู้ ในเรื่องของการออกเสียง รู้จักพยัญชนะ และวิธีการเขียนที่ถูกต้อง เมื่อเด็กได้เรียนรู้วิธีการที่ถูกต้องและกล้ามเนื้อแข็งแรงเด็กจะสามารถเขียนได้โดยถูกต้องและมั่นคง ในชั้นอนุบาล 2  เด็กจะเริ่มเขียนและฝึกสะกด-อ่านเป็นคำ
    ในชั้นอนุบาล 3 
    เด็กจะพูด เขียน อ่าน เป็นประโยค ตลอดจนสามารถแต่งประโยคหรือเรื่องราวสั้นๆได้
  4. กิจกรรมทางคณิตศาสตร์ เรียนรู้เกี่ยวกับพื้นฐานเบื้องต้นทางคณิตศาสตร์ ในเรื่องของจำนวน การนับ ระบบเลขฐานสิบ วิธีการทางคณิตศาสตร์ คือ การบวก การลบ การคูณ การหาร เลขสองหลักขึ้นไป และเศษส่วนเบื้องต้น
  5. กิจกรรมทางด้านวัฒนธรรม จะถูกสอดแทรกอยู่ใน 4 กิจกรรมหลักข้างต้น โดยเด็กจะเรียนรู้เกี่ยวกับธรรมชาติศึกษา ภูมิศาสตร์ เช่น พื้นผิวดิน-น้ำ ส่วนประกอบของต้นไม้ รูปร่างของใบไม้ลักษณะต่างๆ ส่วนประกอบของสัตว์-สิ่งของชนิดต่าง ๆ ทวีปและประเทศต่างๆ

 

          นอกจากนี้ได้จัดการสอนภาษาอังกฤษอย่างเป็นระบบ โดยครูชาวต่างชาติ โดยเริ่มจากการฟัง การพูด (เป็นการเริ่มต้นการเรียนรู้คำศัพท์ที่ผ่านการสื่อสาร จากการพูดคุยที่ผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย   ซึ่งจะช่วยให้เด็กได้พัฒนาทักษะการ สื่อสารภาษาอังกฤษที่มีความหมาย) สู่การอ่าน การเขียน ที่บูรณาการความรู้ เนื้อหาต่างๆ ทั้งหลักไวยากรณ์ คำศัพท์ และการสนทนา โดยใช้เรื่องราวของนิทาน เล่าให้เด็กฟัง และมีกิจกรรมเสริมหลักสูตร คือ ว่ายน้ำ ดนตรี และคอมพิวเตอร์ (เริ่มในชั้นอนุบาล 2) 

 

จูมล่าดีบัคคอนโซล

Session

Profile Information

การใช้งาน หน่วยความจำ

Database Queries